“ยาแก้อักเสบ”

“ยาแก้อักเสบ”

ยาแก้อักเสบที่จะพูดถึงในบทความนี้ คือยาในกลุ่ม Non-Steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs หรือ เอ็นเสด) ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX ที่มีหน้าที่ในการเปลี่ยน Arachidonic acid เป็น Prostaglandin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบ ดังนั้นเมื่อยับยั้งการสร้างสารนี้จึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ ลดอาการปวด และลดไข้ได้

โดยปกติคำที่ทุกคนชอบเรียกติดปากว่า “ยาแก้อักเสบ” จริงๆตามความหมายทางการแพทย์หมายถึงยากลุ่มนี้ (NSAIDs) หรืออาจหมายถึงกลุ่ม Steroids ที่มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบเช่นเดียวกัน แต่ “ไม่ได้หมายถึงยาฆ่าเชื้อ เช่น amoxicillin”

กระบวนการอักเสบ คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อมีความผิดปกติของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากการออกกำลังกาย คออักเสบจากการใช้เสียงมากๆ โดยอาการแสดงจะออกมาในรูป ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งบางกรณีเมื่อร่างกายติดเชื้อก็จะเกิดการอักเสบตามมา เช่น ทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แผลอักเสบจากการติดเชื้อที่ผิดหนัง นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนสับสนระหว่างยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อ

ตัวอย่างของยาแก้อักเสบ เช่น Ibuprofen, Naproxen, Mefenamic acid, Diclofenac, Indomethacin, Meloxicam, Celecoxib, Etoricoxib ซึ่งกลไกการยับยั้งกระบวนการอักเสบเหมือนกันที่การยับยั้ง enzyme COX แต่แต่ละตัวจะต่างกันในเรื่องความจำเพาะต่อตัว enzyme ซึ่งหากจำเพาะน้อยก็จะไปจับกับ COX ในบริเวณอื่นที่ไม่ได้เกิดการอักเสบได้ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา ที่เด่นๆของยากลุ่มนี้คือ “กัดกระเพาะ” ดังนั้นกลุ่มที่ specific มาก คือ Celecoxib
(Celebrex) และ Etoricoxib (Arcoxia) จึงมีผลกัดกระเพาะน้อย

ข้อบ่งใช้ของยาแก้อักเสบได้แก่
- ปวดศีรษะ
- ปวดไมเกรน (Ibuprofen, Naproxen, Diclofenac potassium, Mefenamic, Celecoxib, Etoricoxib)
- ปวดฟัน
- ปวดประจำเดือน
- ปวดกล้ามเนื้อ/เส้นเอ็น
- ปวดข้อ
- ปวดเนื่องจากไซนัสอักเสบ
- เจ็บคอจากอาการทอนซิลอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ
- ลดไข้ จากไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยหลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้ หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย ผู้ที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร โรคตับไตรุนแรง โรคไข้เลือดออก ยานี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ และยานี้มีผลต่อการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดให้หลีกเลี่ยงในผู้ที่สงสัยไข้เลือดออกหรือมีภาวะเกร็ดเลือดผิดปกติ รวมถึงผู้ที่ใช้ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เลือดออกง่าย เช่น Warfarin, Aspirin

จริงๆแล้วยานี้มีข้อดีในหลายๆข้อบ่งใช้ แต่ยานี้ก็เป็นเพียงยาที่ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวป้องกันระยะยาว ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรใช้ก็ต่อเมื่อมีอาการเท่านั้น
การใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และหากใช้ยาแล้วมีอาการแพ้ยาหรืออาการไม่พึงประสงค์จากยาควรรีบไปพบแพทย์

ปัจจุบันยากลุ่มนี้หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยามีหลายชนิดและแต่ละชนิดก็มีหลายยี่ห้อให้เลือก ยานี้จัดอยู่ในกลุ่ม “ยาอันตราย” ห้ามขายในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายยา เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ ห้ามทำการจัดชุดเพื่อแบ่งขาย และไม่ควรหยิบยื่นให้แก่ผู้อื่นโดยไม่ผ่านการซักประวัติจากผู้ที่มีความชำนาญด้านยา เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้

เครดิต สุขภาพดีไม่มีในขวด จาก blockdit


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติ “แซนด์วิช” sandwich

“บาบา ยากา (Baba Yaga)” แม่มดแห่งสลาวิก

ทำไมมดไม่ขึ้นโรงงานน้ำตาล?